วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เวลา13.00 น. ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(เสาชิงช้า) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการปะทะกันระหว่างการชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ณ บริเวณสี่แยกคอกวัว วันที่ 22 เมษายน 2553 ณ บริเวณถนนสีลม และวันที่ 28 เมษายน 2553 ณ บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดอนเมือง ทั้งสามเหตุการณ์ได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดยศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) และสถานพยาบาลเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ได้พยายามอย่างเต็มความสามารถในการให้ความช่วยเหลือ และลำเลียงผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ปะทะกันเพื่อนำส่งสถานพยาบาลอย่างรวดเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ให้บริการโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บเป็นหลัก ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะเป็นฝ่ายใด แต่จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา พบว่า สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ได้รับความสะดวกในการปฏิบัติงาน ทั้งในสถานพยาบาลและ ในการช่วยเหลือหรือลำเลียงผู้บาดเจ็บ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และชีวิตของผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ
ในการนี้ กรุงเทพมหานครได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้บริการทางการแพทย์ในสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่กทม. สามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกและปลอดภัยทั้งในด้านการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล การปฐมพยาบาลและการลำเลียงผู้บาดเจ็บเพื่อนำส่งสถานพยาบาลอย่างรวดเร็ว จึงได้ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ประกอบด้วย
- แพทยสภา โดยนายกแพทยสภา นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
- แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย โดยนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยพลตำรวจโทนายแพทย์จงเจตน์ อาวเจนพงษ์
- และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยผู้แทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชนนายแพทย์ไพบูลย์ เอกแสงศรี
ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่อง การให้บริการของสถานพยาบาลในสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่กทม. โดยขอความร่วมมือจากผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป ในการสร้างความเข้าใจและสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บให้สามารถได้รับบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสมและทันท่วงที ดังนี้
- บุคลากรทางการแพทย์ทั้งมวลให้การดูแลผู้ป่วยโดยยึดมั่นจริยธรรมวิชาชีพ
- โดยหลักสากล บุคลากรทางการแพทย์ รถพยาบาล เครื่องมือทางการแพทย์ สถานพยาบาล ต้องได้รับการคุ้มครองจากทุกฝ่าย
- ผู้บาดเจ็บทุกรายจะต้องได้รับการคุ้มครองตามหลักมนุษยธรรม โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
- ขอให้ทุกฝ่ายเคารพในความเป็นกลางของบุคลากรทางการแพทย์ ไม่กีดขวาง ไม่ขัดขวางการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนขัดขวางการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน
- อำนวยความสะดวกให้แก่รถพยาบาลในการเข้าถึงผู้บาดเจ็บในพื้นที่ชุมนุม และลำเลียงผู้บาดเจ็บออกจากพื้นที่ เพื่อนำส่งสถานพยาบาลด้วยความรวดเร็ว
- ไม่รบกวนหรือขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถทำการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้อย่างเหมาะสมทั้งในที่เกิดเหตุและในสถานพยาบาล
ปชส./สนพ.
|