::บุคลากรดีเด่น::
คุณพรวรินทร์  นุตราวงศ์

พรวรินทร์ นุตราวงศ์ 
หนึ่งในสุดยอดคนไทย เพื่อร่วมเป็นผู้วิ่งส่งต่อคบเพลิงกีฬาโอลิมปิค 2008

 

เส้นทางสู่ความเป็นหนึ่ง
                         สืบเนื่องจากบริษัท ซัมซุง อิเลคทรอนิคส์ จำกัด ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของกีฬาโอลิมปิค 2008 ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้สรรหาสุดยอดคนดีของทุกประเทศ ประเทศละ 6 คน เพื่อเป็นตัวแทนของแต่ละประเทศในการวิ่งคบเพลิงกีฬาโอลิมปิค 2008 ซึ่งคบเพลิงของพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค 2008 จะวิ่งผ่านไปยังแต่ละประเทศทั่วโลก โดยเริ่มจากกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ และคบเพลิงกีฬาโอลิมปิค 2008 จะเดินทางมาถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ 13 ของโลก ในวันที่ 19 เมษายน 2551 โดยประเทศไทยจะรับคบเพลิงจากประเทศอินเดีย และส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย โดยผู้ที่เป็นตัวแทนของการวิ่งคบเพลิงของทุกประเทศ จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิค 2008 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 8 สิงหาคม 2008

                        บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคทรอนิคส์ จำกัด ได้ทำการสรรหาสุดยอดคนดีของประเทศไทย ด้วยวิธีการเปิดโอกาสให้คนไทยเขียนเล่าเรื่องความดีที่ทำ และ 1 ใน 6 คน ของสุดยอดคนไทยก็คือ                 นางพรวรินทร์ นุตราวงศ์  ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ 7 วช. ฝ่ายการพยาบาล วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ผู้ทำความดีด้วยการเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และทำความหวังสุดท้ายของผู้ป่วยให้สำเร็จก่อนที่ผู้ป่วยจะจากโลกนี้ไป

                     

คุณพรวรินทร์  นุตราวงศ์
 
                         คุณพรวรินทร์ เข้ารับราชการที่วชิรพยาบาลในตำแหน่งพยาบาล 2 ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2522 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ 7 วช. ฝ่ายการพยาบาล วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร และวชิรพยาบาล สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร นอกเหนือจากหน้าที่หลักแล้ว   คุณพรวรินทร์ ยังเป็นอาสาสมัครเพื่อการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองและผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ตายอย่างมีความสุข โดยการมอบความสุขและทำความหวังครั้งสุดท้ายให้กับผู้ป่วยให้สำเร็จก่อนที่ผู้ป่วยจะจากไป ซึ่งทำมานานกว่า 10 ปีแล้ว คุณพรวรินทร์ มีความภูมิใจและสุขใจเป็นอย่างมากกับความสุข ที่ได้มอบให้ผู้ป่วย ถือว่าเป็นการทำงานที่เกิดความสำเร็จทางด้านจิตใจ จึงไม่มีการถ่ายรูปกับผู้ป่วยเลย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในสภาพไม่น่าดู ได้แต่เก็บไว้ในใจแต่สามารถเล่าได้ว่าได้ทำความหวัง ของผู้ป่วยให้สำเร็จได้อย่างไร                         
                         1. น้องแดน เป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ น้องแดนป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ระยะสุดท้ายป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลนานถึง 8 เดือน เมื่อถามน้องแดนว่าถ้าพรุ่งนี้เป็นวันสุดท้ายของน้องแดน น้องแดนอยากทำอะไร น้องแดนตอบว่าอยากไปร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จึงพาน้องแดนเดินไปร้านเซเว่น อีเลฟเว่น น้องแดนซื้อของ 2 อย่าง แล้วนำมาให้ขอทานหน้าโรงพยาบาล หลังจากนั้นอีก 3 วัน น้องแดนก็จากไป
                         2. น้องแพท ป่วยด้วยโรคมะเร็งสมอง น้องแพทไม่มีพ่อ – แม่ และป้าที่เลี้ยงน้องแพทไม่เคยมาเยี่ยมน้องแพทอีกแล้ว หลังจากที่ดูแลน้องแพทจนเหมือนแม่ของน้องแพทแล้ว น้องแพทบอกว่าอยากให้มีดารามาเยี่ยมจึงได้โทรศัพท์ไปบอกคุณมนตรี เจนอักษร ซึ่งเป็นเพื่อนกันให้มาเยี่ยม หลังจากคุณมนตรีมาเยี่ยมได้ไม่นาน น้องแพทก็จากไป และก่อนที่น้องแพทจากไปน้องแพทยได้ขอไว้ว่าถ้าวันที่น้องแพทตายขอให้จับมือน้องแพทเอาไว้ตลอดก็ได้ทำตามที่น้องแพทขอร้องไว้ น้องแพทจากไปอย่างสงบ
                         3. คุณสมศรี ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด ก่อนตายคุณสมศรีบอกว่าอยากพบคน 2 คน ซึ่งโกรธกันมานานกว่า 20 ปี และไม่เคยเจอกันอีกเลย จึงได้พยายามติดต่อคน 2 คนนั้น ให้มาพบคุณสมศรี หลังจากที่คุณสมศรีได้พบคน 2 คนนี้ และได้ขออโหสิกรรมกัน อีก 2 วัน คุณสมศรีก็จากไปอย่างสงบ
                         4.  คุณชัยศรี ป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ลิ้นระยะสุดท้าย คุณชัยศรีเขียนหนังสือบอกว่ายังไม่ได้จ่ายค่าเทอมของลูก 2 คน และห่วงลูกกลัวไม้ได้เรียนต่อ จึงได้ประสานไปที่โรงเรียนที่ลูกทั้ง 2 คนเรียนอยู่ และขอจากผู้อำนวยการโรงเรียนให้ยกเว้นค่าเทอมและขอให้เด็กทั้ง 2 คน เรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งผู้อำนวยการก็รับปาก จึงได้มาบอกคุณชัยศรี หลังจากนั้นอีก 2 วัน คุณชัยศรีก็จากไปอย่างสงบ
                         5. อาแปะป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด หลังจากที่ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลนานกว่า 3 เดือน อาแปะบอกว่าอยากไปตายที่บ้าน แต่ลูกๆและภรรยาไม่ยอมให้กลับ เพราะกลัวว่าจะให้การดูแลอาแปะไม้ได้ จึงได้อธิบายให้ลูกและภรรยาฟัง ถึงความต้องการสุดท้ายของอาแปะ และได้สร้างความมั่นใจด้วยการจัดอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในช่วงสุดท้ายของชีวิตให้ พร้อมทั้งได้อยู่เป็นเพื่อนที่บ้านของอาแปะ 1 วัน จนภรรยาและลูกๆมั่นใจว่าจะดูแลอาแปะได้ หลังจากนั้นอีก 2 วัน อาแปะก็จากไปอย่างสงบท่ามกลางความรักของลูกๆและภรรยา
คุณพรวรินทร์  นุตราวงศ์
                          คุณพรวรินทร์ มีวิธีสอนคนไม่ให้กลัวความตาย และกล้าเผชิญกับความตาย ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ที่ทำมาหลายๆครั้ง จนเกิดเป็นองค์ความรู้ขึ้นมาโดยการที่จะต้องสร้างความ มั่นใจ ความเชื่อใจ และความไว้วางใจให้คนไข้ และญาติจนเขาเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้เขาเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เช่นสอนให้รู้จักสวดมนต์ ทำบุญทำความดีในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ และจะพูดถึงความตายว่าใครๆ ก็ต้องตาย แต่ใครจะตายก่อนหรือหลังเท่านั้น คนที่รู้ตัวล่วงหน้ายังโชคดีที่ยังมีเวลาทำอะไรได้อีกหลายอย่าง และจะพูดคุยกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายในเรื่องความตายจนคุ้นเคยกับคำว่า    “ตาย” และให้เข้าใจว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติ ฉะนั้นเวลาที่เหลืออยู่อยากทำอะไร อยากบอกอะไรกับใครหรือต้องการพบใคร คุณพรวรินทร์จะพยายามทำสิ่งเหล่านั้นให้เขาอย่างเต็มที่ จนเขาหมดห่วง หมดกังวล และมีใจสงบ โดยจะสังเกตเห็นได้จากสีหน้าของผู้ป่วยทุกราย ที่แสดงถึงความดีใจ โล่งใจ และสบายใจก่อนเวลาสุดท้ายของชีวิต และนี่คือหนึ่งในสุดยอดคนไทย และเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ที่เป็นแบบอย่างในการทำความดี และเป็นแบบอย่างต่อสังคมไทย
                        
สนพ.กทม. 24 มีนาคม 2551
Content for id "showFlash" Goes Here
head

 

 Link ที่น่าสนใจ
กรุงเทพมหานคร
กระทรวงสาธารณสุข
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
แพทยสภา
สภาการพยาบาล
WHO Thailand

การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

BangkokGIS

 

กรมบัญชีกลาง