กิตติพร เอี๊ยะสมบูรณ์ |
||
เช้าวันหนึ่งเวลาประมาณ 7.45 น. เมื่อข้าพเจ้าขึ้นปฏิบัติงาน ผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวที่ หน่วยงานประมาณ 3 อาทิตย์ เป็นผู้ป่วยเรื้อรัง ตะโกนเรียกข้าพเจ้าและกล่าวว่า "หัวหน้าช่วยตามเมียและลูกให้ที่ เพราะผมคงไม่ไหวแล้ววันนี้" ข้าพเจ้าเดินไปที่เตียงผู้ป่วย ซึ่งวันนี้อาการของคุณลุงท่านนี้อาการเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือมีอาการเหนื่อยหอบ กระสับกระส่าย ข้าพเจ้าจึงได้ติดตามญาติให้ตามที่ผู้ป่วยร้องขอทันที เพราะสภาพที่ประเมินได้คือ ผู้ป่วยที่อาการเหนื่อยเช่นนี้อาจมีภาวะการหายใจล้มเหลวและต้องใส่ท่อช่วยหายใจในเร็ว ๆ นี้ การล่าช้าในการติดตามญาติหรือไม่ทำตามที่ผู้ป่วยร้องขออาจทำให้ผู้ป่วยและบุตร ภรรยา ซึ่งเป็นที่รักของผู้ป่วยไม่มีโอกาสได้พบหรือพูดคุยกับผู้ป่วยในขณะที่เขายังมีลมหายใจและสติสัมปชัญญะสำหรับผู้ป่วยรายนี้ญาติมาในขณะที่ผู้ป่วยต้องใส่ท่อช่วยหายใจแล้วแต่ยังมีสติสัมปชัญญะในระดับหนึ่งที่จดจำบุตรและภรรยาได้ แต่ไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูดกับผู้อื่นได้เนื่องจากใส่ท่อช่วยหายใจต่อเข้ากับเครื่องช่วยหายใจ แต่สามารถรับฟัง รับรู้และสื่อสารด้วยท่าทางเช่น การพยักหน้าหรือส่ายหน้าได้ และประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากได้พบญาติ ผู้ป่วยมีอาการหยุดเต้นของหัวใจอย่างกะทันหันในขณะที่บุตรและภรรยานั่งจับมือและพูดคุยกับผู้ป่วยอยู่ที่ข้างเตียง แพทย์และพยาบาลในทีมรวมทั้งข้าพเจ้าได้ช่วยปฏิบัติการฟื้นคืนชีพให้ผู้ป่วย และมื่อถึงที่สุดแพทย์ได้ให้ข้อมูลกับญาติถึงโอกาส ของการรอดชีวิตที่น้อยมาก ญาติจึงขอให้หยุดการฟื้นคืนชีพ ภาพที่พบขณะนั้นคือน้ำตาบนใบหน้า ระคนไปกับเสียงร้องไห้ของบุตรและภรรยา ซึ่งขณะนั้นญาติท่านอื่น ๆ และผู้นำทางศาสนาในศาสนาที่ผู้ป่วยนับถือได้มาพร้อมกันที่หน่วยงาน ข้าพเจ้าได้สื่อสารกับญาติว่าขณะนี้หัวใจผู้ป่วยยังเต้นอยู่ หายใจด้วยการใช้อุปกรณ์เครื่องหายใจความดันโลหิตต่ำลงเรื่อย ๆ แต่จากประสบการณ์ที่ปฏิบัติงาน พบว่าผู้ป่วยมีการตอบสนองที่สะท้อนถึงการรับรู้ในวาระสุดท้ายของชีวิต ญาติจึงสามารถจะแสดงถึงความรักและช่วยให้ผู้ป่วยได้ตายอย่างสงบ ถ้าต้องการปฏิบัติกิจทางศาสนา ก็สามารถกระทำได้ โดยพยาบาลจะอำนวยความสะดวก ซึ่งญาติขอสวดตามแนวทางของคริสต์ ข้าพเจ้าจึงจัดเก้าอี้ให้กับญาติที่ร้องให้ตลอดเวลา ปิดม่านที่เตียงผู่ป่วยเพื่อให้เกิดความเป็นส่วนตัว บทเพลงจากการปฏิบัติตามแนวทางของศาสนาที่ผู้ป่วยเคารพ และคำพูดของนักบวชและญาติที่ข้าพเจ้าได้ยินทำให้ข้าพเจ้าเกิดความสุขจากการเป็นผู้ให้ ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณบิดา มารดาของข้าพที่ลำบากในการส่งเสียให้ข้าพเจ้าได้เล่าเรียนเป็นพยาบาล เพื่อได้มีอาชีพหล่อเลี้ยงชีวิตและมีโอกาสได้รับใช้แผ่นดินและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ทำให้เรียนรู้คุณค่าของการให้ด้วยจิตใจที่ดี รับรู้ได้ถึงคุณค่าและความดีที่มนุษย์พึงกระทำ ถึงแม้จะถูกแฝงไว้ในงาน ซึ่งถึงอย่างไรข้าพเจ้าก็ไม่ลืมบทบาทของการเป็นผู้นำที่พึงถ่ายทอดสิ่งที่ดีให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยการสอนน้อง ๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ว่าการเอื้ออำนวยให้ญาติและผู้ป่วยได้อยู่ด้วยกันและแสดงความรักและดูแลกันในวาระสุดท้ายของชีวิตเป็นสิ่งที่พึงกระทำ น้อง ๆ ก็ควรฝึกทักษะนี้ไว้ ข้าพเจ้าสังเกตได้ว่าน้องพยาบาล 2 คน ที่อยู่ในเหตุการณ์ก็รู้สึกสะท้อนถึงความทุกข์ของญาติในขณะที่เขากำลังจะสูญเสียคนที่เป็นที่รักแต่ด้วยประสบการณ์ที่น้อยในการสื่อสารกับผู้ที่กำลังจะสูญเสียเพราะต้องระวังคำพูดที่อาจกระทบกระเทือนความรู้สึกที่บอบบางของผู้ที่กำลังจะสูญเสีย ทำให้เขาไม่พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือด้านจิตวิญญาณ จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่มีประสบการณ์ที่ต้องถ่ายทอดและจัดโอกาสให้เขาได้ปฏิบัติด้วยความมั่นใจ |
||
สิ่งที่ข้าพเจ้าได้เล่าอาจเป็นเพียงการสะท้อนถึงการทำดีเพียงน้อยนิด เป็นความดีเล็ก ๆ แต่สำหรับข้าพเจ้าที่มีประสบการณ์สูญเสียคุณพ่ออันเป็นที่รัก ซึ่งตนเองมีโอกาสที่ดีได้อยู่กับท่านจนลมหายใจสุดท้าย เหตุการณ์ที่เราได้มีโอกาสแสดงพลังรักแด่ลมหายใจสุดท้ายของผู้ที่เป็นที่รักของเรานั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เป็นความทรงจำที่ดี ดังนั้นข้าพเจ้าจะไม่ลังเลที่จะปฏิบัติเมื่อมีโอกาสที่จะมีส่วนช่วยให้เกิดความรัก ความอบอุ่นในการดูแลคนที่เป็นที่รักของผู้รับบริการ ปรารถนาให้ผู้ที่กำลังจะจากโลกนี้ไปได้อยู่เคียงข้างและรับพลังงานรักจากญาติมิตรของตนเองจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต |
||
ภายหลังจากได้รับรางวัล 1 ใน 100 ตัวแทนทำดีเพื่อพ่อ ในโครงการทำดีเพื่อพ่อ ข้อมูลประเด็นของการทำดีของบุคคล 100 คน ได้ถูกเผยแพร่ มีสื่อที่ให้ความสนใจต่อประเด็น "พลังรักแด่ลมหายใจสุดท้าย" ข้าพเจ้าได้รับการสัมภาษณ์จากสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยในรายการพ่อแห่งแผ่นดินเกี่ยวกับความดีที่ได้ปฏิบัติ และออกอากาสในวันที่ 13 ธันวาคม 2550 และได้รับการสะท้อนกลับจากผู้สัมภาษณ์ว่าเป็นสตรีที่ทำงานด้วยหัวใจ นอกจากนี้ได้รับการติดต่อจากสถาบันราชภัฎพระนคร ให้นำเรื่องราวความดีของข้าพเจ้าตีพิมพ์ในวารสารวิจัย ฉบับที่ 1 ปีที่ 2 ต่อมาได้รับการติดต่อจากบริษัทโพลีพลัสเพื่อเป็นแขกรับเชิญของรายการ VIP บันทึกเทปโทรทัศน์เกี่ยวกับงานพลังรักแด่ลมหายใจสุดท้าย ออกอากาศเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2551 สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. สืบเนื่องจากการทุ่มเทการทำงานให้กับองค์กร 25 ปี เป็นผู้ริเริ่มงานพลังรักแด่ลมหายใจสุดท้ายในหน่วยงานมาเป็นเวลากว่า 16 ปี ส่งผลให้ข้าพเจ้าได้รับคัดเลือกให้เป็นสตรีดีเด่นกรุงเทพมหานคร สาขาการแพทย์ ปี 2551 ซึ่งข้าพเจ้าภูมิใจที่ได้เป็นบุคลากรคนหนึ่งของ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ที่ได้มีโอกาสสร้างคุณประโยชน์และชื่อเสียงให้กับองค์กร อีกทั้งได้เผยแพร่แนวคิดการปฏิบัติงานที่มีประโยชน์ต่อสังคม | ||
สนพ.กทม. 3 มิถุนายน 2551 |
|