ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 : Influenza A(H1N1)
                    เมื่อวันที่27 เมษายน ที่ผ่านมาสำนักนักข่าวต่างประเทศต่างพากันรายงานว่าที่กรุงเม็กซิโก ซิตี เมืองหลวงของประเทสเม็กซิโก ได้เกิดโรคไข้่หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ คือ ไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ สายพันธุ์ H1N1 หรือที่เรียกกันว่า "ไข้หวัดหมู(Swine Flu)" กำลังระบาดหนัก อีกทั้งเชื้อไข้หวัดดังกล่าว ได้แพร่ระบาดไปยังประเทศใกล้เคียงอย่างสหรัฐอเมริกา และต่อมาพบผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อดังกล่าวในทวีปยุโรป รวมถึงในภูมิภาคเอเชียด้วย
                    ล่าสุดองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้เพิ่มระดับเตือนภัยการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้เป็นระดับ 5 ซึ่งเป็นขั้นที่ตรวจพบว่ามีการแพร่เชื้อจากคนสู่คนในอย่างน้อย 2 ประเทศในภูมิภาคเดียวกัน หรือการติดเชื้อข้ามประเทศเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังประกาศให้เรียกชื่อโรคนี้อย่างเป็นทางการว่า โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A H1N1 แทนการเรียกว่า ไข้หวัดหมู เ่ช่นเดี่ยวกับที่ก่อนหน้านี้สหรัฐ เรียกไข้หวัดสายพันธุ์ดังกล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่ 2009 H1N1 เพื่อแก้ความเข้าใจผิดที่ว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้เกิดจากหมู
 
  รู้จักกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ของโลก
Influenza A(H1N1)
                    โรคไข้หวัดหมูที่กำลังระบาดในประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ นั้น ถือเป็นครั้งแรกที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศภาวะฉุกเฉินระดับนานาชาติ หลังจากการระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2546 ส่งสัญญาณให้ทุกประเทศเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดของโรค ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
                    ความน่าสะพรึงกลัวของโรคดังกล่าวเนื่องจากเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มนุษย์ยังไม่เคยมีภูมิต้านทาน ซึ่งในอดีตการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วจำนวนมาก การเกิดโรคแต่ละครั้งจะเกิดจากพันธุ์ย่อย ๆ เพียงพันธุ์เดียว ซึ่งเป็นแล้วจะมีภูิมิคุ้มกันต่อพันธุ์นั้น เชื้อไข้หวัดใหญ่บางพันธุ์อาจผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำให้เกิดการระบาดใหญ่ และมีการเรียกชื่อโรคที่ระบาดแต่ละครั้งตามชื่อของประเทศที่เป็นแหล่งต้นกำเนิด

                    - พ.ศ. 2461 - 2462 ไข้หวัดใหญ่เสปน (Spain Flu) เป็นการระบาดทั่วโลกครั้งร้ายแรงที่สุด คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 50 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่้ในสหรัฐอเมริกาถึงกว่า 5 แสนคน
                    - พ.ศ. 2500 - 2501 ไข้หวัดใหญ่เอเชีย (Asian Flu) เริ่มที่ตะวันออกไกลก่อนระบาดไปทั่วโลก มีผู้เสียชีวิต 7 หมื่นคนในสหรัฐอเมริกา การระบาดในครั้งนี้สามารถตรวจพบและจำแนกเชื้อได้รวดเร็ว และผลิตวัคซีนออกมาฉีดป้องกันได้ทัน จึงมีผู้เสียชีวิตไม่มากนัก
                    - พ.ศ. 2511 - 2512 ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (Hong Kong Flu) มีผู้เสียชีวิตประมาณ 3.4 หมื่นคนในสหรัฐ เป็นชนิดย่อยที่มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายไข้หวัดใหญ่เอเชีย จึงมีผู้ป่วยจำนวนไม่มากนัก เพราะมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้างแล้ว
                    - พ.ศ. 2520 - 2521 ไข้หวัดใหญ่รัสเซีย (Russian Flu) เริ่มระบาดที่ประเทศจีนตอนเหนือแล้วกระจายไปทั่วโลก ทราบภายหลังว่าเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่กระจายอยู่ทั่วไปก่อนปี พ.ศ. 2500 คือ ไข้หวัดใหญ่สเปน (H1N1) ที่ระบาดเมื่อปี พ.ศ. 2461-2462 ผู้ที่อายุเกิน23 ปีในขณะนั้น ส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานโรคแล้วจากการระบาดครั้งก่อน จึงเกิดโรครุนแรงเฉพาะผู้ที่อายุน้อยกว่า 23 ปี ที่ไม่มีภูมิต้านทาน

                    ดร.แนนซี่  ค็อกซ์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยไข้หวัดใหญ่ ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ กล่าวว่า ไวรัสไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ชนิด A H1N1 นี้มีลักษณะพันธุกรรมหรือยีน ที่ประกอบด้วยเชื้อไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์รวมอยู่ด้วยกัน ได้แก่ เชื้อไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ เชื้อไข้หวัดนกที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ และ เชื้อไข้หวัดหมูที่พบบ่อยในทวีปยุโรปและเอเชีย โดยสันนิษฐานเบี้ยงต้นว่า เชื้อไข้หวัดพันธุ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม หรือ Antigenetic Shift โดยมีหมูที่เป็นพาหะนำโรค โดยการถูกเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู และไข้หวัดใหญ่ เข้าไปอยู่้ในตัว ต่อมาเซลล์ในตัวหมูถูกไวรัสตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปโจมตี ทำให้หน่วยพันธุกรรมไวรัสดังกล่าวผสมปนเปกันระหว่างการแบ่งตัว กลายเป็นเชื้อพันธุ์ใหม่ขึ้นมา

   
หมูไม่เกี่ยว
                   
หมู
                นพ.คำนวณ  อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดใหม่นี้ว่า แม้จะมีเชื้อตั้งต้นมาจากหมู แต่ระยะแพร่ระบาดคือ ติดต่อจากคนสู่คน ดังนั้นการบริโำภคผลิตภัณฑ์จากหมูไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับ "ไข้หวัดนก" ที่เคยแพร่ระบาดในอดีต ซึ่งเป็นเชื้อที่ติดต่อจากสัตว์ปีกสู่คนได้นั้น จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ผู้ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้ มีอัตราเสียชีวิตร้อยละ 5-7 ซึ่งถือว่ายังน้อยกว่าอัตราของผู้เสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก
   
อาการ
                    ผู้ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ไอ เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศรีษะ หนาวสั่น คัดจมูกและอ่อนเพลีย อาจพบอาการท้องเสีย อาการป่วยจะพัฒนารวดเร็วและจะมีอาการหายใจลำบากอย่างรุนแรงภายใน 5 วัน ทั้งนี้อาจจะพบว่าผู้ที่รับเชื้อจะแสดงอาการไม่รุนแรง
                    ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีสุขภาพแข็งแรงและอาการไม่รุนแรง สามารถรักษาหายได้ด้วยภูมิต้านทางของร่างกาย ทั้งนี้หากเป็นผู้สูงอายุหรือเด็กจะมีความเสี่ยงมากกว่า ส่วนในกรณีที่มีการอารรุนแรงมักพบภาวะปอดอักเสบและเสียชีวิตได้
   
การติดต่อ
                    การแพร่ติดต่อเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ในคน คือ
                         1. แพร่ไปยังผู้อื่นโดยการไอ หรือจามรดกัน โดยที่เชื้อจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย
                         2. ติดจากมือและสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ และเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูกและตา หากนำมือที่มีเชื้อไปสัมผัสร่างกาย เช่น การแคะจมูก การขยี้ตา
                    แต่โรคนี้ไม่ติดต่อจากการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงสุกแล้ว เพราะเชื้อไวรัสจะตายที่อุณหภูิมิ 70 องศาเซลเซียส
   
การป้องกัน
                    1. ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิด เพื่อป้องกันเวลาจาม
                    2. สวมหน้ากากอนามัย และทิ้งกระดาษชำระที่เปื้อนลงถังขยะ
                    3. ล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อย ๆ
                    4. หยุดพักเมื่อป่วย ระวังไม่สัมผัสตา จมูก และปากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
                    5. หลีกเลี่ยงชุมชนแออัด และงดเดินทางไปในประเทศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
                    6. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
                    7. รับประทานเนื้อหมูที่ปรุงสุกทุกครั้ง
                      
การรักษา
                   ในเอกสารเรื่องการแพร่ระบาดของไข้หวัดชนิดนี้ ที่กงสุลใหญ่ ในนครลอสแองเจลิสของสหรัฐ แสดงข้อมูลที่ระบุว่า สามารถใ้ช้ยาชนิดเดียวกับยาไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ในการรักษาไข้หวัดชนิดเอ H1N1 ได้ คือ ยา Oseltamivir หรือ Tamiflu และยา Zanamivir ซึ่งเป็นยาชนิดพ่น แต่ทั้งนี้ยาดังกล่าว ไม่สามารถป้งกันเชื้อไวรัสได้
                    ทั้งนี้มีรายงานระบุว่าในสหรัฐอเมริกา ผลการตรวจเชื้อไวรัสชนิดนี้พบว่าเชื้อดังกล่าวดื้อยาต้านไวรัส amantadine และ rimantadine อย่างไรก็ตาม WHO ออกมายอมรับว่า ยา Tamiflu ที่มีอยู่ในขณะนี้อาจไม่เพียงพอต่อการรับมือกับการแพร่ระบาดที่อาจเพิ่มมากขึ้น
   
มาตรการรับมือ (ทั่วโลก)

                    ในกรุงเม็กซิโก ซิติ ประเทศเม็กซิโก ขณะนี้รัฐบาลได้ประกาศให้ธุรกิจร้านค้า และบริการที่ไม่มีส่วนสำคัญและจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจ และความปลอดภัยของสาธารณชนปิดดำเนินการชั่วคราวระหว่างวันที่ 1-5 พ.ค. เพื่อหวังหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม ส่วนกระทรวงสาธารณสุขเม็กซิโกได้มีการแจกจ่ายยาต้านไวรัสหลายล้านชุดไปตามโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว
                    
ด้านสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี บารัค โอบามา เรียกร้องสภาคองเกรสให้จัดสรรงบประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์โดยเร่งด่วน เพื่อใช้ในปฏิบัติการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ขณะที่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างทวีปอเมริกา (ไอดีบี) ประกาศว่าจะอนุมัติเงินกู้ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (105,000 ล้านบาท) ให้กับเม็กซิโกเพื่อต่อสู้กับผลกระทบจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ H1N1 และวิกฤติเศรษฐกิจโลก
                    ส่วนกลุ่มประเทศในอเมริกาใต้ ประกาศมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนี้ เช่น กระทรวงสาธารณสุขบราซิล ได้เพิ่มจุดตรวจเพื่อเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อเป็น 36 จุด จาก 20 จุด ขณะที่ตามสนามบินและท่าเรือมีการตรวจตราผู้โดยสารจากเม็กซิโก สหรัฐ และแคนาดา เป็นพิเศษ
                    ขณะที่รัฐบาลอียิปต์ แถลงว่า จะเริ่มฆ่าหมูทุกตัวในประเทศ ประมาณ 400,000 ตัว โดยให้เหตุผลว่าฟาร์มหมูในอียิปต์ไม่ถูกสุขอนามัย ซึ่งการประกาศดังกล่าว ทำให้องค์กรการอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ออกมาระบุว่า เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะโรคนี้ไม่ใช่ไข้หวัดหมู

                    สำหรับในภูมิภาคเอเชีย รัฐบาลประเทศต่างๆ ประกาศเตือนภัยระดับสูง โดยเฉพาะมาตรการตรวจคุมเข้มในภายในสนามบิน โดยการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้ที่เดินทางเข้าประเทศส่วนมาตรการการรักษาเบื้องต้นในหลายประเทศ มีการใช้มีการใช้ยาต้านไวรัส ทามิฟลู แก่ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ และปวดเมื่อยร่างกาย

สถานการณ์การแพร่ระบาด
                    องค์การอนามัยโลก ได้เพิ่มระดับเตือนภัยการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้เป็นระดับ 5 ซึ่งเป็นขั้นที่ตรวจพบว่ามีการแพร่เชื้อจากคนสู่คนในอย่างน้อย 2 ประเทศในภูมิภาคเดียวกัน หรือการติดเชื้อข้ามประเทศ เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยการเพิ่มระดับเตือนภัยในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากมีผู้เสียชีวิตที่รัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกเป็นนอกประเทศเม็กซิโก
                     ส่วนในหลายประเทศที่มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ได้แก่ นิวซีแลนด์มีจำนวน 13 คน แคนาดา 19 คน อังกฤษ 5 คน สเปน 10 คน เยอรมนี 3 คน อิสราเอลและคอสตาริกาประเทศละ 2 คน เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย และเปรู ประเทศละ 1 คน สหรัฐฯ อย่างน้อย 91 คนไม่นับรวมผู้เสียชีวิต 1 คน ขณะที่เม็กซิโกซึ่งเป็นต้นตอการแพร่ระบาด พบผู้เสียชีวิตแล้ว 168 คน ไม่ยืนยันอีก 8 คน
   
สถานการณ์ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย
                    ซึ่ง วันที่1 พ.ค. 52 นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่าที่ประชุมศูนย์บัญชาการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ให้สรุปใช้ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ 2009H1N1 และมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009  เพื่อให้ง่ายแก่การสื่อสารและสร้างความเข้าใจแก่สาธารณะ
                    
นอกจากนี้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน +3 ในวันที่ 7-8 พ.ค.นี้ โดยมีหลักใหญ่เรื่องการหารือเกี่ยวกับกรอบแนวนโยบายในการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้ ทั้งนี้ปัจจุบันคาดว่าอาเซียนมีการสำรองยายาโอเซลทามิเวียร์ไว้ ที่ประเทศสิงคโปร์ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านเม็ด ด้าน นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในส่วนของไทยมีสต๊อกอยู่ประมาณ 5 ล้านเม็ด ขณะนี้กำลังให้องค์การเภสัชกรรมผลิตเพิ่มอีก 1 ล้านเม็ด เพื่อให้ได้ประมาณ 10 % ของประชากร
                    
ส่วนนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสวุรรณภูมิ กล่าวถึงมาตราการป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่เชื้อสายเม็กซิโก ว่า ท่าอากาศยานจะดูแลเรื่องการติดตั้งเครื่องเทอรโมสแกนเนอร์ สำหรับเที่ยวบินจากประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนั้น ประเทศไทยเองไม่มีเที่ยวบินตรงจากประเทศเม็กซิโก ดังนั้นมาตราการเฝ้าระวังของเราจะเน้นไปยังสายการบินที่บินมาจากเมืองต่างๆ ดังกล่าว
                    
อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีรายงานผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อไข้หวัดดังกล่าว แต่ก็มีการการคาดว่า อีกประมาณ 12 สัปดาห์ โรคไข้หวัดสายพันธุ์นี้อาจมาถึงประเทศไทย ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวเป็นเพียงการคาดการณ์ไว้เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน เท่านั้น

 

 
ข้อมูลจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 28 เม.ย. 52 และ สำนักข่าวเจ้าพระยา 1 พ.ค. 52
 
                    
สำนักการแพทย์


Produce by Medical Service Department
สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เลขที่ 514
ถนนหลวง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทร. 0-2224-2954 , 0-2224-9711 , 0-2221-6020 , 0-2225-4966
โทรสาร 0-2226-1931 , 0-2221-6029

ติดต่อ Webmaster : webmaster@dmsbma.go.th