กรุงเทพมหานครมีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ครอบคลุมมิติต่าง ๆ ในการให้บริการและดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน เป็นที่ยอมรับกันว่า การทำวิจัยอย่างถูกต้อง เหมาะสมด้วยจริยธรรมการวิจัย ถือเป็นรากฐาน ที่สำคัญที่ได้มาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการตอบโจทย์ของสังคม ช่วยแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการพัฒนามหานคร ทั้งทางด้านการแพทย์ การสาธารณสุข วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปะวิทยาการแขนงต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อสร้างนวัตกรรม อันจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย ข้อบัญญัติและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
กรุงเทพมหานครสนับสนุนให้เกิดการวิจัย โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน กรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Administration Human Research Ethics Committee, BMAHREC) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 มีหน้าที่ในการพิจารณาและรับรองโครงการวิจัยในคนให้ดำเนินการตามหลักจริยธรรมการวิจัยสากล คือ ปกป้องศักดิ์ศรี คุ้มครองสิทธิ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้เข้าร่วมการวิจัยและชุมชน โดยพิจารณาผลประโยชน์และความจำเป็นของโครงการวิจัยในคน รวมถึงการพิจารณาผลประโยชน์ การขัดกันของผลประโยชน์ของผู้วิจัย ผู้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย และผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน (ดูคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน กรุงเทพมหานคร)
คณะกรรมการฯ ขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีการดำเนินงานเป็นอิสระและยุติธรรม ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายต่างๆ ประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการแพทย์ พยาบาล สาธารณสุข เภสัชกรรม กฎหมาย จริยธรรมการวิจัย ระเบียบวิธีวิจัย ผู้ที่ไม่สังกัดกรุงเทพมหานคร บุคคลนอกสายวิทยาศาสตร์/ตัวแทนประชาชน และมีคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขาต่าง ๆ ให้ความเห็นโครงการวิจัย ตามที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้กรุงเทพมหานครจัดหาทรัพยากรและงบประมาณสนับสนุนกระบวนการพิจารณางานวิจัย เพื่อให้คณะกรรมการฯ สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำสั่ง | ลงวันที่ | เรื่อง | ประธาน |
กรุงเทพมหานคร ที่ 167/2543 |
12 มกราคม 2543 | แต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณาและควบคุมการวิจัยในคนของกรุงเทพมหานคร | นายวันชาติ ศุภจัตุรัส รองปลัดกรุงเทพมหานคร |
กรุงเทพมหานคร ที่ 572/2544 |
23 กุมภาพันธ์ 2544 | แต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณาและควบคุมการวิจัยในคนของกรุงเทพมหานคร | รองปลัดกรุงเทพมหานคร (สั่งราชการสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย) |
กรุงเทพมหานคร ที่ 2643/2544 |
27 สิงหาคม 2544 | แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาและควบคุมการวิจัยในคนของกรุงเทพมหานคร | รองปลัดกรุงเทพมหานคร (สั่งราชการสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย) |
กรุงเทพมหานคร ที่ 3744/2556 |
7 ตุลาคม 2556 | แต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน กรุงเทพมหานคร | นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร |
กรุงเทพมหานคร ที่ 1660/2559 |
1 มิถุนายน 2559 | แต่งตั้ง คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของกรุงเทพมหานคร (กรรมการเสริม)และคณะที่ปรึกษาพิจารณางานวิจัยในคน | นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร |
กรุงเทพมหานคร ที่ 3259/2560 |
1 พฤศจิกายน 2560 | แต่งตั้ง คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน กรุงเทพมหานคร และคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (กรรมการเสริม) | นายพิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานคร |
กรุงเทพมหานคร ที่ 1038/2563 |
24 เมษายน 2563 | แต่งตั้ง คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน กรุงเทพมหานคร และคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (กรรมการเสริม) | ศาสตราจารย์พิเศษ มานิต ศรีประโมทย์ |
กรุงเทพมหานคร ที่ 2699/2565 |
17 ตุลาคม 2565 | แต่งตั้ง คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน กรุงเทพมหานคร และที่ปรึกษาคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน กรุงเทพมหานคร | ศาสตราจารย์พิเศษ มานิต ศรีประโมทย์ |
กรุงเทพมหานคร ที่ 1053/2567 |
4 เมษายน 2567 | แต่งตั้ง คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน กรุงเทพมหานคร และที่ปรึกษาคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน กรุงเทพมหานคร | ศาสตราจารย์พิเศษ มานิต ศรีประโมทย์ |
สำนักงานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน กรุงเทพมหานคร
ในปี พ.ศ. 2556 กรุงเทพมหานครมีคำสั่งจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน กรุงเทพมหานคร โดยมีหัวหน้าสำนักงานฯ ผู้อำนวยการกองวิชาการ/ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ สำนักการแพทย์ เป็นหัวหน้าสำนักงาน มีหน้าที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน กรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร ได้จัดทำ วิธีดำเนินการมาตรฐาน (Standard Operating Procedure) ของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน กรุงเทพมหานคร โดยยกร่างและอ้างอิงหลักจริยธรรมการวิจัยทางการแพทย์ในคนระดับชาติและระดับสากล เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงานสำหรับคณะกรรมการ ฯ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน รวมถึงผู้วิจัยและผู้เกี่ยวข้องจะได้ศึกษาและทำความเข้าใจก่อนการเสนอขอให้พิจารณารับรองโครงร่างการวิจัย
มีการทบทวน ปรับปรุง แก้ไขวิธีดำเนินการมาตรฐานเป็นระยะ เพื่อให้ก้าวทันนวัตกรรมงานวิจัยทางสุขภาพและสังคมที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มาตรฐานจริยธรรมการวิจัยที่ปรับเปลี่ยน รวมถึงประกาศและกฎหมายไทยที่ปรับเพิ่มเติมเข้ามา และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการพิจารณาจริยธรรมของโครงการวิจัย (ดู วิธีดำเนินการมาตรฐาน เล่มที่ 1-4)
SOP | เรื่อง | อนุมัติ |
เล่มที่ 1 | หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการทำวิจัยในคนของกรุงเทพมหานคร (BMA 01) | นายสมัคร สุนทรเวช (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) วันที่ 27 สิงหาคม 2545 |
เล่มที่ 2 | วิธีดำเนินการมาตรฐานงานวิจัย กรุงเทพมหานคร (BMA 02.0) | ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) วันที่ 13 มกราคม 2557 |
เล่มที่ 3 | วิธีดำเนินการมาตรฐานจริยธรรมการวิจัยในคน กรุงเทพมหานคร (BMAHREC 02.1) |
พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) วันที่ 25 มิถุนายน 2562 |
เล่มที่ 4 | วิธีดำเนินการมาตรฐาน คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน กรุงเทพมหานคร (BMAHREC 3.0) |
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) วันที่ 31 มกราคม 2566 |
การตรวจเยี่ยมประเมินคุณภาพ
กรุงเทพมหานครจัดให้มีคณะกรรมการตรวจเยี่ยมภายในเพื่อประเมินคุณภาพการทำงานของคณะกรรมการฯ และสำนักงานฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรองรับการประเมินและรับรองคุณภาพจากองค์กรภายนอกที่มีหน้าที่กำกับดูแลตามที่กฎหมายกำหนด หรือองค์กรที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติที่จะมาประเมินการทำงานของคณะกรรมการฯ อย่างเป็นระบบ เพื่อตรวจสอบว่าการพิจารณารับรองโครงร่างการวิจัย เป็นไปอย่างถูกต้องตรงตามวิธีดำเนินการมาตรฐานที่กำหนด และเป็นไปตามหลักจริยธรรม
ได้รับการรับรองคุณภาพ NECAST ระดับ 3 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำหรับคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ประจำสถาบันที่พิจารณาโครงการวิจัยทุกประเภท รวมถึงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนอาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์ และการวิจัยที่อาจเกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง
ได้การรับรองคุณภาพจากมูลนิธิ SIDCER-FERCAP(The Strategic Initiative for Developing Capacity in Ethical Review & Forum for Ethical Review Committees in Asia and the Western Pacific) ภายใต้โปรแกรมการวิจัยและการฝึกอบรมขององค์การอนามัยโลก (WHO-TDR) ที่มีบทบาทในการตรวจสอบคุณภาพและประสิทธิภาพทางจริยธรรมของการวิจัยทางคลินิกในประเทศทั่วโลก ในการพิทักษ์สิทธิ ความปลอดภัยของบุคคลและชุมชนที่เข้าร่วมการวิจัย โดยจะมีการตรวจประเมินและรับรองคุณภาพซ้ำทุก 3 ปี